นำเข้า-ส่งออก กัมพูชา
กฏระเบียบพื้นฐานการนำเข้า-ส่งออก ประเทศกัมพูชา
เจาะตลาดกัมพูชา รู้ก่อนส่งออก !!!
องค์ประกอบและภาพรวมการค้าในกัมพูชา
ประชาชนชาวกัมพูชาที่มีอยู่ประมาณ 15-16 ล้าน, มีความชื่นชอบสินค้าและบริการจากประเทศไทย มีความเชื่อมั่นในศักยภาพและมาตรฐานการผลิต และยอมรับกับราคาสินค้าที่แพงกว่าจากสินค้าต่างๆ ที่มีการนำเข้ามาจากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ออสเตรเลีย และคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญอย่างเวียดนาม และจีน
ระดับรายได้ของชาวกัมพูชาจะอยู่ประมาณ 7,600 บาท ถึง 15,000 แต่ค่าครองชีพแพงกว่ารายได้ ดังนั้นสินค้าไทยที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการตลาดให้สอดคล้องและเหมาะสมกับตลาดเป้าหมาย บางรายการสินค้าอาจใช้เทคนิคการวางขายเฉพาะในพนมเปญที่เป็นเมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศ, แต่บางรายการสินค้าเราอาจใช้เทคนิค “ป่าล้อมเมือง” เพื่อทำให้สินค้าเติบโตและเป็นการหลบคู่แข่งบวกกับสร้างโอกาสทางการค้าให้เกิดความสำเร็จ แต่ผู้ประกอบการไทยจะเลือกวิธีการใด คือสิ่งที่ต้องไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบครอบ
สินค้าศักยภาพของไทยส่งออกไปกัมพูชาสินค้าจากประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น อาหารและเครื่องดื่ม, ยาและสมุนไพรรักษาโรค, สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม, สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน เรื่อยไปจนถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ ล้วนคือสินค้าที่ตลาดกัมพูชาให้ความยอมรับและต้องการนำเข้า อย่างไม่ขาดสาย, ช่องทางการขนส่งสินค้ายอดนิยม คงหนีไม่พ้นช่องทางที่คลองใหญ่ จังหวัดตราด, สามารถทำการขนส่งสินค้าจากไทยไปถึงพนมเปญ ในระยะเวลา 7 วันเท่านั้น และประหยัดค่าใช้จ่าย ความเสียหายหรือสินค้าสูญหายนั้น จากประสบการณ์ตรงยังไม่เคยเจอปัญหาดังกล่าว
เนื่องจากความนิยมในสินค้าไทย ผู้ประกอบการอาจจะพบกลุ่มเอเย่นต์ที่นำสินค้าของเราไปเจรจาให้กับกลุ่มเอเย่นต์ด้วยกันเอง หรือกับผู้นำเข้าโดยตรงนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยอาจได้ผลประโยชน์หรือเสียประโยชน์ อีกทั้งบางรายการสินค้าจะมีไปจำหน่ายที่ตลาดชายแดนเช่น ตลาดโรงเกลือ เพื่อข้ามไปขายยังฝั่งปอยเปตของประเทศกัมพูชา… คำถามในใจที่ผู้ประกอบการแต่ละท่าน ต้องตอบคำถามด้วยตนเองให้ได้คือ “นั่นคือสิ่งที่ต้องการใช่หรือไม่” โอกาสของสินค้าไทยไม่ได้จำกัดเฉพาะต้องเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ รวยๆ ประสบความสำเร็จในการส่งออกไปยังต่างประเทศ (ไม่ว่าจะประเทศใดๆ ก็ตาม) ผู้ประกอบการควรสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้าใจเสียใหม่ว่า “สามารถส่งออกไปประเทศใดๆ ก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จการขายในประเทศไทยเสียก่อน”
กลุ่มตลาดการค้าสมัยใหม่ที่เรียกว่า “Modern Trade” ทั้งประเทศมีอัตราส่วนประมาณ 5% อีก 95% คือตลาดการค้าดั่งเดิม ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องวางแผนและลืมรูปแบบการค้าที่เคยใช้จากประเทศ เนื่องจากโครงสร้างและช่องทางการจำหน่าย,กระจายสินค้า ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างชัดเจน
Aeon Shopping Center คือห้างสรรพสินค้าที่กลุ่มผู้ประกอบการไทยรู้จักมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันคือห้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เกิดการร่วมทุนกันระหว่าง ญี่ปุ่น,ไทย และกัมพูชา อีกทั้งเพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่เกิน 3 ปี บวกกับทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์การแสดงสินค้าหลักของกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ นั่นคือ “เกาะเพชร” ส่วนใหญ่แล้วเมื่อผู้ประกอบการไทยไปจัดงานแสดงสินค้า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมาช็อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้
ใครที่เคยเดินช็อปปิ้งจะเห็นภาพของร้านอาหารญี่ปุ่น, แบรนด์ร้านค้าจากนานาประเทศทั่วโลก ทั้งกลุ่มสินค้าแฟชั่น, เสื้อผ้า, เครื่องสำอาง, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ แต่หากคนที่มีประสบการณ์ในการทำการค้ากับกัมพูชา โดยเฉพาะที่พนมเปญ จะเข้าใจศักยภาพของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ดีว่า มีราคาแพง ถูกใจกลุ่มไฮเอ็น คนชั้นสูงร่ำรวย เป็นหลัก… แล้วกลุ่มคนปานกลางล่ะ เขาไม่มาช็อปปิ้งที่นี้เหรอ นี่คือคำถามที่กลุ่มคนเริ่มต้นค้าขายกับกัมพูชา ตั้งคำถามในใจ ห้างสรรพสินค้าที่นิยมคือ โสรยา และสุวรรณา ที่มีขนาดเล็กกว่าห้าง Aeon แต่ครองใจชาวพนมเปญ มากกว่า มีซุปเปอร์มาร์เก็ตหลักของประเทศอย่าง “ลัคกี้” อยู่ในห้าง และที่ตั้งของห้างจัดว่าอยู่ใจกลางเมืองพนมเปญ สะดวกกับการเดินทางมากกว่า, สินค้ามีราคาอาจถูกกว่าในบางรายการ และยังสามารถมาเดินช็อปปิ้งต่อได้อีกที่ Central Market ตลาดค้าปลีกค้าส่ง หากเปรียบเทียบก็คงคล้ายๆ กับจตุจักรของกรุงเทพฯ ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว Central Market จะเป็นกลุ่มชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยว หรือกรุ๊ปทัวร์ต่างๆ จัดมาลง ไม่เว้นแต่หน่วยงานภาครัฐและวิสาหกิจต่างๆ ของไทย หากมีการพาผู้ประกอบการสำรวจตลาดการค้า ก็จะต้องพามาที่ตลาดแห่งนี้…. ดังนั้น หากเปรียบ Central Market และ Aeon Shopping Center ของหนึ่งใน Landmark สำคัญของการสำรวจตลาดก็คงจะเถียงไม่ได้
จากไลฟ์สไตล์และข้อบังคับในเรื่องของรายได้ผสมกับช่องทางจำหน่ายสินค้า คือสิ่งที่กลุ่มผู้ประกอบการนักธุรกิจไทย ต้องวางแผนและพุ่งเป้าไปตลาดการค้าหนึ่งๆ ให้เกิดผลสำเร็จอย่างชัดเจน แต่ผู้ประกอบการไทยอย่างเราๆ จะอยู่ในสถานะของการเป็นผู้ส่งออกเท่านั้น การที่จะทำให้สินค้าประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือที่ดีอย่างเต็มใจ และไม่กลายเป็นจ้องเอาผลประโยชน์ระหว่างกัน จะทำให้สินค้าเติบโตได้อย่างแท้จริง… แต่คำถามก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไร?
กฏระเบียบพื้นฐานการนำเข้า-ส่งออก ประเทศกัมพูชา